รายงานการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2550

by Little Bear @11 ก.ค. 51 19:38 ( IP : 61...220 ) | Tags : รายงานการประชุม

รายงานการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2550

กลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้

วันอาทิตย์ที่  24  กุมภาพันธ์  2551

ณ  สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12  อ.เมือง  จ.สงขลา




รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม 50 คน (รายชื่อตามเอกสารแนบท้ายรายงานการประชุม)

เริ่มประชุมเวลา 10.00 น.

วาระการประชุม

วาระที่ 1 รับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2549
วาระที่ 2 รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2550 โดยคณะกรรมการกลุ่มฯ และฝ่ายตรวจสอบ
วาระที่ 3 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา
วาระที่ 4 คัดเลือกคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ
วาระที่ 5 ความใฝ่ฝันหรืออุดมการณ์ต่องานออมทรัพย์ โดย นายบรรจง  นะแส  ตัวแทนคณะผู้ริเริ่มกลุ่มออทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้
วาระที่ 6 รับของที่ระลึก / จับของรางวัลจากผลิตภัณฑ์ชุมชน และรับเงินปันผล

สาระสำคัญของการประชุม สรุปได้ดังนี้

วาระที่ 1 รับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2549

มติ รับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2549

วาระที่ 2 รายงานผลการดำเนินงาน ประจำปี 2550 โดยคณะกรรมการกลุ่มฯ และฝ่ายตรวจสอบ

2.1 รายงานผลการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์ โดยคณะกรรมการกลุ่ม

กรรมการรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2550 โดยคุณสิทธิชัย แพทย์พงษ์ ประธานกลุ่มออมทรัพย์  และประธานในที่ประชุม รายงานว่าการดำเนินงานที่ผ่านมา กลุ่มอาจจะมีปัญหาบ้างในเรื่องของการติดตามหนี้ มีสมาชิกที่กู้ไปแล้วไม่ส่งคืน กรรมการได้มีการหารือเพื่อแก้ปัญหาหนี้แต่ละรายว่าจะทำอย่างไร โดยยึดระเบียบ แต่ยืดหยุ่น ที่ผ่านมาใช้วิธีการประนีประนอม เช่น ยกเลิกค่าปรับ ยกเลิกดอกเบี้ย ทำข้อตกลงร่วมในการชำระคืนกับสมาชิกที่มีหนี้และผู้ค้ำประกัน กรณีหนี้มีปัญหามีสะสมมาเรื่อย ๆ เมื่อมาถึงกรรมการชุดนี้ก็ต้องแก้ปัญหา โดยเริ่มจากแจ้งทางหนังสือ การโทรพูดคุย  การไปพบพูดคุยตกลงกัน  มีการหักจากผู้ค้ำโดยทำข้อตกลงร่วมกัน  ซึ่งการแก้ปัญหามองว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่หนักใจ  แต่เป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องทำ วงเงินกู้สูงสุดในปีนี้ที่ปล่อยกู้จำนวน 300,000 บาท ซึ่งตัวเงินไม่สำคัญที่จะเอาไป แต่ที่สำคัญความจริงใจความรับผิดชอบในสิ่งที่เอาไป

ส่วนการจัดการเงินกลุ่มให้เกิดประโยชน์ ที่ผ่านมาได้นำไปซื้อสลากออมสิน ซึ่งมาจากมิติที่ประชุมใหญ่ประจำปี เพื่อให้เกิดรายได้ ปีนี้เกิดรายได้จากการถูกรางวัลหมื่นกว่าบาทเพื่อนำมาจัดสรรเป็นรายได้ของกลุ่ม

มีเสียงสะท้อนต่อการทำงานของกรรมการว่ากรรมการชุดนี้บริหารงานไม่เป็น ซึ่งกรรมการอยากจะบอกเล่าให้สมาชิกได้ทราบและตระหนักว่า ทุกอย่างทำตามหน้าที่ ทำตามระเบียบออมทรัพย์ พยายามแก้ไขปัญหามีความยืดหยุ่น ส่วนเรื่องของการให้เกิดรายได้ต่อกลุ่ม ที่ผ่านมาก็คิดหาทางในการนำเงินมาทำให้เกิดประโยชน์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดต่อกลุ่มด้วย ถ้าเงินฝากอยู่ในธนาคารมากก็จริงแต่ผลเสี่ยงต่อกลุ่มมีน้อย  หากนำมาปล่อยกู้ก็ต้องพิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง เมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ กลุ่ม มองว่ากลุ่มออมทรัพย์ของเรามีนักคิดมาก(ตรรก) คิดกันมากแต่ไม่ค่อยมีคนทำ

ความเห็นและข้อเสนอ

  • รายได้ระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร กับรายได้จากการถูกรางวัลสลากออมสิน อย่างไหนที่มีรายได้มากกว่ากัน... ซึ่งการซื้อสลากออมสินไม่แน่นอนในเรื่องของการถูกรางวัล แต่ดอกเบี้ยเงินฝากมีอัตราที่ได้รับแน่นอน
  • เสนอให้ทำรายงานเชิงความเคลื่อนไหว เช่น ข้อมูลในด้านที่สมาชิกได้รับประโยชน์จากกลุ่มออมทรัพย์  ว่ากลุ่มออมทรัพย์เราช่วยเหลือสมาชิกได้มากน้อยแค่ไหน ในแต่ละปีให้กู้ไปเท่าไหร่ กี่ราย สมาชิกได้บ้านกี่หลัง

มติ ที่ประชุมรับรองรายงานผลการดำเนินงาน ประจำปี 2550 และเห็นชอบตามที่เสนอให้ทำรายงานเชิงความเคลื่อนไหว

2.2 รายงานผลการดำเนินงาน ของฝ่ายตรวจสอบ

คุณธราดอน  หมัดเลียด ฝ่ายตรวจสอบ กล่าวว่าออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้เป็นเรื่องที่หนุนช่วยหรือสร้างชีวิตให้กับสมาชิก  ในฐานะฝ่ายตรวจสอบที่ทำหน้าที่กำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ สอดส่องกลุ่มภายใต้การทำงานที่สร้างสรรค์ ที่ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะเรื่องการเงิน ทำงานร่วมกับกรรมการไปพร้อมกับการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน งานออมทรัพย์ อะไรที่เป็นประโยชน์กับงาน อะไรที่ให้กำลังใจ อะไรที่จะตำหนิได้ก็จะว่าไปตามความจริง  ปีนี้ฝ่ายตรวจสอบขอตำหนิกรรมการในเรื่องเอกสาร ขาดเอกสารรายงานผลการดำเนินงานของกรรมการ ซึ่งทุกปีจะมีการรายงานผลการดำเนินงานเป็นเอกสาร  และการนำคำว่าดอกเบี้ย มาใช้กับกลุ่มออมทรัพย์เรา ที่จริงเราไม่มีดอกเบี้ย เราใช้คำว่าค่าบำรุงมาตลอด

ฝ่ายตรวจสอบที่ได้รับการแต่งตั้ง 3 คน ประกอบด้วย คุณสมนึก พรรณศักดิ์,  คุณธราดอน หมัดเลียด  และคุณจรัสศรี  พวงมาลัย  สำหรับการดำเนินงานของฝ่ายตรวจสอบที่ผ่านมาทำหน้าที่ใน 2 เรื่องหลัก คือ

  • ร่วมประชุมกับกรรมการ ติดตามแก้ไขปัญหา 3 เดือนครั้ง - ร่วมปรับปรุงระเบียบจากมติที่ประชุมใหญ่ พบว่าจากเวทีประชุมใหญ่ครั้งที่แล้ว ทำให้มีการปรับปรุงระเบียบ กรรมการมีการปรับระเบียบทำให้สมาชิกมีสิทธิกู้ได้หลายรายมากขึ้น (กรณีปลดล็อคการติดกู้พิเศษที่เดิมไม่สามารถกู้สามัญได้) ทำให้บริหารจัดการได้ดีขึ้น และเรื่องเงินฉุกเฉินจากวงเงิน 2,000 บาท ปรับเป็น 3,000 บาท ตามความต้องการของสมาชิก - ร่วมประชุมเตรียมการประชุมใหญ่ วันที่ 17 ธ.ค.50, 13ธ.ค.51 และ 8 ก.พ.51 ทำอย่างไรก็ได้ให้งบดุลลงตัว ถึงจะประชุมได้ตามระเบียบ หากปิดบัญชีประจำปีแล้วก็จัดประชุมใหญ่ได้ไม่เกิน 2 เดือน จัดประชุมใหญ่ได้ - ปรับปรุงแบบฟอร์มเงินกู้สามัญ และเงินกู้พิเศษ - ร่วมผลักดันนโยบาย จากการมอบหมายของที่ประชุมใหญ่ปีที่แล้วมอบหมายให้ฝ่ายตรวจสอบ ดำเนินการ เรื่องการจัดตั้งออมทรัพย์ในเขตพื้นที่การทำงานฝั่งอันดามัน ซึ่งครั้งแรกได้เข้าไปร่วมผลักดันหารือกับเอ็นจีโอเล  มีการตอบรับเห็นด้วย ครั้งที่2 นำไปพูดคุยในเวที กป.อพช.ใต้ และคุยนอกรอบบ้าง ท้ายสุดได้ข้อสรุปการประชุมประจำปี ของ กป.อพช.ใต้ ที่ตรัง รับในหลักการ เห็นด้วยที่จะให้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์อันดามันที่ตรัง
    - การจัดกลไกงานพัฒนาให้กลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้เป็นกลไกด้านสวัสดิการสำหรับคนทำงานพัฒนา โดยให้ประธานออมทรัพย์เข้ามาเป็นกรรมการ กป.อพช.ใต้ ตลอดไป กรรมการชุดใหม่ประธานใหม่เข้ามาก็ไปเป็นกรรมการ กป.อพช.ใต้ โดยอัตโนมัติ ข้อสังเกตด้านการดำเนินงาน - กลุ่มออมทรัพย์ฯ มีคณะที่ปรึกษาจากการแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่ประจำปี 2549 ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหา มีด้วยกัน 8 คน ได้แก่ (1)นายบรรจง นะแส  (2)นายถาวร  สังขชาติ  (3)นายธนู แนบเนียร  (4)น.ส.เบญจวรรณ เพ็งหนู  (5)นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี  (6)นายประวีณ  จุลภักดี  (7)น.ส.ลม้าย มานะการ  (8)นายนฤทธิ์  ดวงสุวรรณ์  ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการปรึกษาและยังไม่ได้มีการประชุมร่วมกัน เนื่องจากยังไม่มีเรื่องที่จะปรึกษา - กรณีมีเงินจำนวน 23,496 บาท ได้ประกาศหาเจ้าของจำนวนเงินดังกล่าว ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ประสงค์แจ้ง  หากไม่มีใครแจ้งมาภายใน 3 เดือน จะรับเป็นเงินบริจาคเข้าเป็นรายได้ของกลุ่มออมทรัพย์ฯ ซึ่งหลังจากนี้สมาชิกจะเรียกคืนไม่ได้
  • ตรวจสอบเอกสารต่างๆ ของกลุ่มในรอบปี 2550 ได้แก่ ใบกู้ประเภทต่างๆ เอกสารสวัสดิการ และเอกสารทางบัญชี

2.1 เอกสารใบกู้ประเภทต่างๆ (กู้ฉุกเฉิน/กู้สามัญ/กู้พิเศษ)

  • กู้ฉุกเฉิน มีใบกู้ 18 ใบ/ผู้ใช้บริการ 10 ราย เป็นเงิน 36,000 บาท โดยมีการกู้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป 13ราย, เพื่อใช้จ่ายในงานพัฒนา 4 ราย, เพื่อการเกษตร 1 รายใช้บริการในเขตจังหวัดสตูลกับจังหวัดสงขลา
  • กู้สามัญ มีใบกู้ 15 ใบ/ผู้ใช้บริการ 15 ราย เป็นเงิน 577,000 บาท ตรงตามเอกสารใช้บริการ 15ราย อาจมีเหตุผลหลายอย่าง เช่น คนเก่าติดพันธะเดิม อันดับ1 กู้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย/ต่อเติมบ้าน  อันดับ2 เพื่อค่าเล่าเรียนบุตร อันดับ3 ทำธุรกิจ  อันดับ4  กู้เพื่อชำระหนี้ ซื้อคอมพิวเตอร์ ติดตั้งอินเตอร์เน็ท ซ่อมรถยนต์-มอเตอร์ไซด์ ทำโรงรถ  ขอบเขตการใช้บริการอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา อ.เมือง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา 8 ราย , อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง 1 ราย, อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต 2 ราย, อ.เมือง อ.ควนกาหลง จ.สตูล 2 ราย, อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 1 ราย, อ.เมือง  จ.ตรัง 1ราย
  • กู้พิเศษ มีใบกู้ 11 โครงการ/11สัญญา มีผู้ใช้บริการ 11 ราย เป็นเงิน 1,666,900บาท อันดับ1 กู้เพื่อสร้างบ้าน 4 ราย อันดับ2 กู้เพื่อต่อเติมบ้าน3ราย อันดับ 3 กู้เพื่อซื้อดิน-ซื้อสวนยาง 2 ราย อันดับ4 กู้เพื่อทำร้านอาหาร 1ราย  สร้างอู่ซ่อมรถและสร้างบ้าน 1ราย  ขอบเขตการกู้ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดสงขลา 7 ราย และจังหวัดอื่นๆ มี จ.พัทลุง 2 ราย, จ.ภูเก็ต 1 ราย, จ.สตูล 1 ราย ข้อสังเกต  ด้านเอกสารใบกู้ประเภทต่างๆ เรียบร้อยดี เป็นไปตามรายงานการเงิน แต่เมื่อมาดูการใช้บริการยังไม่กระจายขอบเขตพื้นที่มากนัก

2.2 เอกสารการเบิกจ่ายสวัสดิการ

  • มีการเบิกค่ารักษาพยาบาล 216ใบเบิก รักษาดูตามใบเสร็จ 279 ครั้งในจำนวนสมาชิก 117 ราย  สมาชิกใช้บริการคิดเป็น 49% จากจำนวนสมาชิกที่มีสิทธิ์เบิกจำนวน 239 ราย
  • สถานที่ใช้บริการ อันดับ1 คลินิก คิดเป็น 56% อันดับ2 ร้านยา  และสถานที่บริการบีบนวด จับเส้น คิดเป็น 21% อันดับ3 โรงพยาบาลรัฐ 15% และอันดับ4 โรงพยาบาล
  • เงินที่ให้กับสถานบริการในการรักษา มากที่สุดอันดับ1 คือคลินิกคิดเป็น 50 % ประมาณ 60,000 กว่าบาท จากยอดจ่ายสวัสดิการปีนี้ 131,392 บาท อันดับ2 ร้านขายยาและบริการบีบ นวด จับเส้น คิดเป็น 22 %  อันดับ3 โรงพยาบาลเอกชน 16% โรงพยาบาลรัฐ 12%
  • เงินที่ใช้มากที่สุดเกี่ยวกับการรักษา คือ ฟัน 21 %, กระดูก เส้น เอ็น กล้ามเนื้อ ปวดเมื่อย 18 %,  เป็นไข้ 10 %, รักษาเกี่ยวกับตา 8% (พบว่าไม่ได้เป็นโรคที่เกี่ยวกับตาโดยตรง จะใช้เกี่ยวกับสายตาสั้น-ยาว เลนส์ คอนแท็กเลนส์)
  • โรคที่พบจากที่ระบุในใบเบิก อันดับ1 ไข้ ปวดหัว ตัวร้อน หวัด 41ใบ คิดเป็น 14 % เกี่ยวกับฟัน 22 ใบคิดเป็น 7% เกี่ยวกับกระดูก เส้น เอ็น กล้ามเนื้อ 7 % ระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ 4 % พบเกือบทุกโรค น้อยบ้างมากบ้าง และการฝากครรภ์ การคลอดมีอยู่หลายราย

ข้อสังเกต

  1. การใช้บริการส่วนใหญ่จะใช้บริการที่คลินิกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหมือนกับปีที่ผ่านมา พวกเราอาจจะยึดความสะดวกในการใช้บริการ
  2. สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ แนวโน้มการเป็นโรคของสมาชิกเพิ่มมากขึ้น มีโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น ไต ไทฟอยท์ ปีที่แล้วมียอดเงินในการเบิกค่ารักษาพยาบาลจำนวนหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นกว่าบาท ปีนี้หนึ่งแสนสามหมื่นกว่าบาท ในขณะที่แนวโน้มเงินที่จะเข้ากองทุนสวัสดิการน้อยลง เพราะอาศัยค่าบำรุงจากการกู้ของสมาชิกซึ่งมีขีดจำกัดในการกู้ จึงฝากไว้ให้กรรมการช่วยดูและสมาชิกช่วยกันคิดหาวิธีหาเงินเข้ากองทุน เพื่อจะได้ให้บริการอย่างทั่วถึง

2.3 เอกสารบัญชี จากที่ดูเอกสารทางบัญชี มีการทำเอกสารถูกต้อง ดูภาพรวมของบัญชีแล้วเรียบร้อยดี ขอชมและยกความดีให้เจ้าหน้าที่ออมทรัพย์

คุณธราดอน หมัดเลียด ฝ่ายตรวจสอบกล่าวว่า “ในความเป็นกลุ่มออมทรัพย์เสน่ห์ คือการหันหน้าเข้าหากัน มาคุยกัน ไม่ถึงโรงถึงศาล เมื่อมีปัญหาให้มาหาออมทรัพย์ก่อน มาหาทางออกร่วมกัน มาคุยหารือกันกับกรรมการ ที่เหนือกว่าระเบียบ คือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เห็นคนมีคุณค่ามากกว่าเงิน ฉะนั้นวันนี้และทุกปีเราได้กรรมการมา 5 คน เป็นเดือดเป็นร้อนแทนสมาชิก น่าจะปรบมือให้กับ กรรมการทุกคน มี อำร่อน, คณิตา(พี่เอียด), วัชระ(บังเบ้ว), สิทธิชัย(พี่ชู) และ สมฤดี(โจ)”

คุณสิทธิชัย แพทย์พงษ์ ประธานกลุ่มออมทรัพย์ บอกว่า “ฝ่ายตรวจสอบช่วยกำกับดูแล และให้ความเห็นในการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์ ตรวจสอบแบบไม่เอาเป็นเอาตาย เวทีนี้เป็นเวทีสำหรับทุกๆ คน อยากให้สมาชิกทุกคนมีการพูดคุยกัน ซึ่งทุกคนมีสภาพเป็นสมาชิกเท่าเทียมกัน” มติ  ที่ประชุมรับรองรายงานผลการดำเนินงานของฝ่ายตรวจสอบ

วาระที่ 3 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา

3.1 พิจารณาเรื่องเงินกองทุนสวัสดิการ

จากรายงานการเงินในส่วนของเงินกองทุนสวัสดิการคงเหลือ หากดูแนวโน้มในปี หน้าจากการรักษาพยาบาลในปีนี้มียอดสูงถึงหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นสองพันกว่าบาท ในขณะที่มีเงินสวัสดิการคงเหลือใช้รักษาในปี 2551 จำนวนเจ็ดหมื่นห้าพันกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก หากเทียบกับการใช้ในปีนี้ จึงนำมาสู่การหาทางออกร่วมกันในวันนี้

ความเห็นที่ประชุม

  1. กรณีใช้บริการนวดกับสถานพยาบาลเพื่อการรักษาเส้น และการเบิกค่ารักษาพยาบาล  ซึ่งมีคำถามว่า “ถ้าไปรักษากับหมอนวดที่พิ้งเลดี้ จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่”
  2. สิทธิ์การใช้บริการ สมาชิกจะใช้บริการปีแรก = 500 บาท, ปีที่2 = 1,000 บาท  ปีที่ 3 = 1,500 บาท สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ใบเสร็จมีอายุในการส่งเบิกไม่เกิน 3 เดือน
  3. ช่องทางการเพิ่มรายได้กลุ่มเพื่อจัดสรรเข้ากองทุนสวัสดิการ ที่ผ่านยอดการกู้น้อย  ควรสื่อสารให้คนที่ไม่รู้ในการกู้ได้รับรู้ว่ามีสิทธิ์ในการกู้ และเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการกู้ ได้ใช้สิทธิ์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่ม  แต่หากมองย้อนกลับในเรื่องของการปล่อยกู้ ที่ผ่านมามีสมาชิกที่กู้ไปแล้วไม่ส่งคืนทั้งๆ ที่มีเงินเดือนมีกำลังพอที่จะส่งชำระคืนแต่ไม่ส่งต้องไปหักคนค้ำ กรณีนี้จะทำอย่างไรอยากให้ช่วยกันหาทางออก
  4. ข้อเสนอต่อกรรมการชุดต่อไป เสนอให้มีหน่วยสื่อสาร เช่น ที่รัตภูมิ มี 3 คนเสนอให้มีคนหลัก 1 คนในการประสานงานเพื่อการสื่อสารที่เร็วจะได้ช่วยกันดู

มติ เห็นชอบตามที่เสนอ คือ (1)กรณีใช้บริการนวดกับสถานพยาบาลเพื่อการรักษาเส้น และการเบิกค่ารักษาพยาบาลนั้นต้องเป็นสถานพยาบาลที่เปิดบริการนวดเพื่อการบำบัดรักษาและมีการจดทะเบียน เบิกค่ารักษาได้แต่ต้องออกใบเสร็จที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีให้ใช้ใบแทนใบเสร็จได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อครั้ง หรือหมอที่ไม่ได้เปิดเป็นคลินิกไม่มีการจดทะเบียนแต่รักษาเส้นได้ ให้หมอลงชื่อรับรองว่าไม่สบายจริงเขียนลงในใบเสร็จ หรือใบแทนใบเสร็จ  (2)เพื่อการดูแลสมาชิกและครอบครัวสมาชิก ให้ระบุในใบเสร็จด้วยว่าป่วยเป็นโรคอะไร  (3)ให้มีหน่วยสื่อสารในการประสานงานเพื่อการสื่อสารที่รวดเร็ว

3.2 เรื่องสาขาออมทรัพย์

เรื่องการจัดตั้งออมทรัพย์ในเขตพื้นที่การทำงานฝั่งอันดามัน จาการพูดคุยล่าสุดในการประชุมประจำปี กป.อพช.ใต้ ได้ข้อสรุปรับในหลักการที่จะจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์สาขาที่ตรัง  การตั้งสาขาออมทรัพย์มีหลายรูปแบบ  ซึ่งต้องหาข้อสรุปร่วมกันในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์สาขาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เดิมเหตุผลเพื่อกระจายให้วงสัมพันธ์เล็กลง เพื่อให้กลุ่มออมทรัพย์ได้ดูแลเพื่อนพี่น้องคนทำงานเอ็นจีโอได้ทั่วถึงในเรื่อง การเข้าถึงสวัสดิการของสมาชิก  สมาชิกเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของสมาชิก

ความเห็นในที่ประชุม ให้มีกลุ่มออมทรัพย์สาขาอยู่ที่ตรัง มีสำนักงาน 1 แห่ง ในอนาคตอาจจะกระจายไปจังหวัดอื่นด้วย แต่ขณะนี้สมาชิกยังมีไม่พอจะกระจาย จึงทดลองทำที่ตรังก่อน โดยตั้งสำนักงานออมทรัพย์สาขาที่ สำนักงาน SAN ที่ตรัง  มีเจ้าหน้าที่ 1 คน อาสาเป็นฝ่ายบัญชีการเงินรวบรวมเอกสารให้กับกลุ่มออมทรัพย์สาขา  และให้มีคณะอนุกรรมการกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ เพื่อดูแลสมาชิกฝั่งอันดามัน  แต่งตั้งโดยกรรมการที่เห็นชอบร่วมกัน (กรรมการกป. กรรมการออมทรัพย์ ฝ่ายตรวจสอบกลุ่มออมทรัพย์) โดยมีการเสนอชื่ออนุกรรมการใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต และจังหวดพังงา เสนอคุณธนู แนบเนียน, จังหวัดกระบี่ เสนอคุณจงรักษ์, จังหวัดตรังเสนอคุณภาคภูมิ, จังหวัดสตูล เสนอคุณวัชระ ทิพย์ทอง  และได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ตามผังด้านล่าง

มติ  รับในหลักการ ทดลองปฏิบัติการ 1 ปี โดยมอบหมายให้กรรมการ ฝ่ายตรวจสอบ และที่ปรึกษา ช่วยดูแลให้เริ่มดำเนินการโดยเร็วที่สุด ให้ใช้ธนาคารเดียวกันในการเปิดบัญชีเป็นสาขาย่อย  ส่วนรายละเอียดค่อยมาดูภายใต้กรอบระเบียบเมื่อครบ 1 ปีงานสาขาเป็นอย่างไร ให้มารายงานผล

วาระที่ 4 ความใฝ่ฝันหรืออุดมการณ์ต่องานออมทรัพย์

ที่ผ่านมากลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ มีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาทุกปี สำหรับการประชุมในวันนี้เราจะได้มารับทราบจุดยืนของกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ร่วมกันเพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์อุดมการณ์เดิม โดยตัวแทนคณะผู้ริเริ่มกลุ่มออทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ คุณบรรจง  นะแส

คุณบรรจง  นะแส  เล่าว่าเดิมกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาเริ่มจากการพูดคุยกัน 8 คน ในรุ่นแรกมีการส่งเสริมให้ไปทำออมทรัพย์กับชาวบ้านและไปเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งแต่ละคนเป็นสมาชิกออมทรัพย์ชาวบ้านหลายกลุ่ม ประมาณ 5 - 6 กลุ่มต่อคน แต่เมื่อทำไปคนทำงานไม่มีเวลาลงไปในแต่ละกลุ่ม ปล่อยให้ชาวบ้านทำกันเอง  จึงเกิดการวิภาควิจารณ์กันขึ้นว่าน่าจะมาทำกันเองเริ่มจากคนทำงานพัฒนา เพื่อช่วยเหลือเพื่อพี่น้องของคนทำงานพัฒนา จึงนำไปสู่การตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของคนทำงานเอ็นจีโอขึ้น และเมื่อดำเนินการไปได้ข้อสรุปก็คล้ายๆ กับที่ไปทำกับชาวบ้าน คือ ทุกครั้งที่มีการประชุมสมาชิกมาร่วมประชุมไม่ถึง 50% กลุ่มตั้งมา 19 - 20 กว่าปี เกือบจะล้มถึงสองครั้ง

ครั้งแรกเงินเกิดสูญหายเนื่องจากมีการเบิกเงินมาเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานเงินเกือบแสนบาท แต่การแก้ไขปัญหาของเราใช้วิธีการสาบานในวัดในโบถ์ ไม่ใช้วิธีการขึ้นโรงขึ้นศาล  และ

ครั้งที่สอง มีกรรมการที่คิดถึงการเติบโตของกลุ่ม มีการไปกู้เงินจากเครดิตยูเนี่ยนจำนวนเงินนับล้านบาท มีฐานคิดที่ว่าเพื่อให้กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยนำเงินมาปล่อยกู้ให้กับสมาชิกนำไปซื้อที่ดิน ทำให้สมาชิกมีที่ดินกันหลายแปลง ต่อมาเกิดปัญหามีบางคนนำไปเปิดร้านอาหาร บางคนไปซื้อที่ดินรายได้กลุ่มไม่เกิด สมาชิกกู้ไปแล้วไม่ส่งคืนจึงทำท่าจะล้มในครั้งที่สอง  กรรมการชุดหลังจึงคิดว่าหากคิดใหญ่เกินไปเกินกำลัง  ส่วนปัจจุบันมีสมาชิกที่จะเข้าใจเจตนารมณ์เดิมมีประมาณ 100 คน ได้มีเงินหมุนเวียน 5 ล้านกว่าบาท  มองว่าสมาชิกเราได้ช่วยเหลือสมาชิกพอสมควร ยืนหยัดมาเกือบ 20 ปี คิดว่านานพอสมควร

หากมาดูประสบการณ์จากที่อื่น มีกลุ่มออมทรัพย์ใน มอ.หาดใหญ่ ตั้งได้ประมาณ 3 ปี มีเงิน 12 ล้านบาท โดยกลุ่มยึดหลักว่าสมาชิกต้องไม่เป็นหนี้ข้างนอก  มีความคิดเรื่องหลักการสร้างความเชื่อมั่น/ การเงิน/ความโปร่งใสในการบริหาร  จึงฝากประเด็นนี้กับกรรมการชุดใหม่ด้วย อาจจะเริ่มจากการคิดถึงระบบการบริการ การสร้างฐานข้อมูลที่เป็นระบบ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก

สมมติหากมีใครมาขโมยฐานข้อมูลของกลุ่มออมทรัพย์เราไปเผาทิ้ง  คิดว่ากลุ่มจะเกิดปัญหาหรือไม่ เราจะทำอย่างไร  ฉะนั้นกลุ่มของเราทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่นในการบริหาร/หลักประกัน/ความปลอดภัยในแหล่งเงิน หากเราเลือกที่จะนำเงินทั้งหมดของกลุ่มไปฝากไว้กับธนาคาร แต่ถ้าเราคิดจะตั้งเป็นสถาบันทางการเงินของเอ็นจีโอเองขึ้น 1 สถาบัน ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องมีสมาชิกที่มากกว่านี้ คิดว่าหากเรามีความเชื่อมมั่นในคนที่เข้ามาทำ เหลืออย่างเดียวที่เราต้องคิดต่อ คือ ระบบ ที่มาจากการระดม เพื่อให้ออมทรัพย์เป็นสถาบันการเงิน โดยการหนุนช่วยจากสมาชิก(support) เพื่อตัดปัญหาความจุกจิก หากมองถึงการบริหารจัดการของธนาคารโดยระบบมืออาชีพ ธนาคารมีการตั้งหนี้สูญไว้เป็นอัตราเปอร์เซ็นต์

ฉะนั้นจึงขอฝากกรรมการชุดใหม่ และสมาชิกทุกคนไว้ 2 เรื่อง  คือ

  1. เรื่องการพัฒนาระบบกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อไม่ให้ข้อมูลสูญหาย และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก  ศักยภาพในคนของเราคิดว่าทำได้
  2. เรื่องการจัดตั้งสถาบันการเงินของเอ็นจีโอ(ทำธุรกิจทางการเงิน) เมื่อมีความมั่นใจระดับหนึ่งแล้ว ก็ขยับไปเรื่องของการระดมทุน ประกาศในเวทีเอ็นจีโอทำการระดมทุน โดยเริ่มจาก การระดมทุนจากสมาชิกก่อน ทดลองทำดูสัก 2 ปี  โดยเปิดให้ใครก็ได้ที่สนใจที่ไม่ใช่เฉพาะเอ็นจีโอเข้ามาบริหารจัดการ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ทดลองทางเทคนิคในการขยายสาขาก่อน
    ซึ่งคาดหวังว่า “สักวันหนึ่งเราจะมีสถาบันการเงินของเอ็นจีโอ”  เมื่อถึงจุดหนึ่งหากกลุ่มมีเงิน 60-70 ล้านบาท  ถ้าเราไม่ขยับไปข้างหน้าก็จะวนเวียนมาเจอปัญหาจุกจิกกินตัวเองไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรให้พัฒนาขึ้นไป เปิดรับสมาชิกใหญ่ สร้างระบบให้ลงตัว คิดไปข้างหน้า  ในฐานะคนแก่ที่เริ่มคิดมา ประคับประคองความเป็นพี่เป็นน้องกันมา ถ้ากลุ่มออมทรัพย์อยู่ได้ถึง 3 ปี ก็ถือว่าดีแล้ว แต่ของเราทำได้กว่า 10 ปีถือว่าแน่นมากแล้ว ทำอย่างให้ให้มีการพัฒนาขึ้นไปอีก และขอฝากเรื่องการเข้ามาเป็นกรรมการทำอย่างไรให้สมาชิกแย่งกันเข้ามาทำหน้าที่นี้

ความเห็นที่ประชุม

  1. เรื่องการพัฒนาระบบกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิก  เห็นด้วยกับการพัฒนาระบบกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิก ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มเองก็พยายามคิดถึงจุดนี้ว่ากลุ่มควรมีระบบเก็บข้อมูล อาจจะเริ่มต้นจากการที่คำนึงถึงความสำคัญของการจัดเก็บข้อมูลและการนำมาใช้ประโยชน์ ที่เอื้อต่อการทำงานเอื้อต่อสมาชิกในการเข้าถึงข้อมูล อาจจะคิดไปถึงระบบออนไลท์ แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
  2. เรื่องสถาบันการเงินเอ็นจีโอ หากจะทำธุรกิจ พวกเราควรจะติติงกันเพราะทิศทางของเราไม่ได้คิดไปในทางนั้น  หรือหากคิดจะทำเราต้องปรับระบบที่คล้ายกับธนาคารที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ เช่น เรื่องการนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันในการกู้
    มองว่าไม่ใช่เรื่องจิตสำนึกอย่างเดียวต้องมีวิธีคิดด้วย มองว่าสิ่งที่คิดกันคือจุดเปลี่ยน น่าจะก้าวไปข้างหน้า วัตถุประสงค์ของเราเพื่อช่วยเพื่อน ให้เพื่อนช่วย  ทำอะไรร่วมกัน  ถ้าเราเห็นด้วยกับทิศทางนี้ ก็ต้องทำกลุ่มออมทรัพย์ให้เกิดความมั่นใจของสมาชิกก่อน เริ่มจากระดมทุนของเอ็นจีโอแต่ละคนมากสัก 25% ก่อน

เห็นด้วยกับการตั้งสถาบันการเงิน ความรู้ไปศึกษาเพิ่มได้ แต่เป็นห่วงเรื่องคนที่จะมาทำ อาจจะต้องใช้วิธีอื่นมาช่วยกันคิดว่ายังมีช่องทางเพื่อให้เกิดรายได้กับกลุ่ม เช่น นำของที่ราไม่ใช้แล้วมาเสนอขายในกลุ่ม คิดว่าก็เป็นทางหนึ่งของบางอย่างเราคิดว่าไม่มีประโยชน์กับเราแต่อาจจะมีประโยชน์กับคนอื่น

หากดูตัวเลขเชิงวิเคราะห์ในเรื่องสวัสดิการ ในอีก 5 ปีข้างหน้าเงินสวัสดิการของเราจะหมด แต่ไม่ใช่คิดแต่สวัสดิการเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว ต้องไปด้วยกันทุกส่วน มองว่าสถาบันการเงินเรายังไม่พร้อม ต้องคำนึงถึงความพร้อมของเราด้วย ทุกอย่างต้องไปพร้อมๆ กัน เราคิดถึงผลกำไรที่จะช่วยเพื่อน แต่ถ้านำหลักทรัพย์มาตั้งเมื่อถึงคราวที่ต้องยึดหลักทรัพย์ เราก็ทำไม่ได้ เพราะเพื่อนกัน พี่น้องกัน จะทำให้ลำบากใจในการยึดทรัพย์

สรุป

  1. พัฒนาระบบกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อให้สมาชิกเกิดความเชื่อมั่น และเกิดความสะดวกคล่องตัว สมาชิกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว
  2. ทิศทางข้างหน้าของกลุ่ม เสนอเป็นหลักการ ไว้ว่า 1.เป็นสถาบันการเงิน หรือ 2.เป็นสหกรณ์  ฉะนั้นกรรมการชุดต่อไป ต้องไปคิดต่อโดยมีข้อเสนอดังนี้

- เสนอให้มีคณะใดคณะหนึ่ง อาจจะเป็นพวกเราหรือชวนคนนอกมาช่วย โดยตั้งเป็นคณะทำงานเป็นเรื่องๆ ไป  เข้ามาช่วย ในการบริหารจัดการกิจการของกลุ่ม - ให้กรรมการชุดใหม่ เชิญคนที่มีความรู้เรื่องสหกรณ์ ธนาคาร มาพูดคุยให้ความรู้กับพวกเรา แล้วช่วยพิจารณากันอีกที  ถ้ากลุ่มไม่มีการขยับขยาย อนาคตจะส่งผลให้เงินปันหุ้นลดลงเรื่อยๆ เงินสวัสดิการก็จะหมดไป  หากเราใช้รูปแบบการบริหารแบบเดิม วงเงินที่มีอยู่คงไปไม่พอ หากสมาชิกต้องการกู้ในวงเงินที่มากขึ้น เช่น จะเปิดร้านอู่ซ่อมรถ กลุ่มออมทรัพย์จะรองรับไม่ได้  อาจจะเชิญพี่ชายของคุณกิตติภพ (พี่แทน) มาคุยให้ฟัง ซึ่งเคยทำงานธนาคาร ที่อำเภอจะนะ  แล้วมาทำสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสงขลา
- เสนอเริ่มจากการระดมทุนจากพวกเรา จาก  25% ของเงินฝากธนาคารของแต่ละคน  และไปศึกษาเรื่องการค้ำประกันโดยหลักทรัพย์  และไปศึกษาเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์

มติ  เห็นชอบในหลักการ กรรมการจะไปศึกษาอีกที

วาระที่ 5 คัดเลือกคณะกรรมการ แต่งตั้งฝ่ายตรวจสอบ และคณะที่ปรึกษา

5.1 กรรมการชุดใหม่

กรรมการชุดเก่าคงเหลือ 1 คน คือ คุณวัชระ ทิพย์ทอง ให้ไปเป็นอนุกรรมการฝั่งอันดามัน และมีการเสนอชื่อกรรมการใหม่ 7 คน ได้แก่

  1. คุณกมลทิพย์ อินทะโณ
  2. คุณปราณี วุ่นฝ้าย
  3. คุณภาณุมาศ นนทพันธ์
  4. คุณจรัสศรี พวงมาลัย
  5. คุณลม้าย มานะการ
  6. คุณเอกชัย อิสระทะ
  7. คุณธราดอน หมัดเลียด

มติ  รับรองคณะกรรมการชุดใหม่

5.2 ฝ่ายตรวจสอบ

ที่ประชุมเสนอ 2 คน คือ

  1. คุณสมนึก พรรณศักดิ์
  2. คุณนฤธิ์ ดวงสุวรรณ์

มติ  รับรองการแต่งตั้งฝ่ายตรวจสอบ โดยในส่วนของฝ่ายตรวจสอบให้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งในวันนี้ ไปหาเพิ่มอีก 2 คน

5.3 คณะที่ปรึกษา

สำหรับคณะที่ปรึกษา ให้เป็นบุคคลคณะเดิมที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อคราวที่ประชุมใหญ่ปี 2549 เดิมมีจำนวน 8 คน แต่ปีนี้เหลือ 6 คน ส่วนอีก 2 คนเดิม คือ คุณคุณลม้าย มานะการ ไปเป็นกรรมการ และคุณนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ไปเป็นฝ่ายตรวจสอบ  ซึ่งเหลือคณะที่ปรึกษาจำนวน 6 คนดังนี้

  1. น.ส.เบญจวรรณ เพ็งหนู
  2. นายบรรจง นะแส
  3. นายถาวร สังขชาติ
  4. นายธนู แนบเนียร
  5. นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
  6. นายประวีณ จุลภักดี

มติ รับรองการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา

วาระที่ 6 รับของที่ระลึก จับของรางวัลจากผลิตภัณฑ์ชุมชน และรับเงินปันผล

ปีนี้สมาชิกที่มาร่วมประชุมได้รับของที่ระลึกกันทุกคนถ้วนหน้า  และได้ลุ้นจับรางวัลผลิตภัณฑ์ชุมชน ใครจะได้ชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ก็แล้วแต่ดวง....

ปิดประชุมเวลา 14.40 น.

นางสาวสมฤดี บุญส่ง เลขานุการกลุ่มออมทรัพย์ ผู้บันทึกการประชุม
ยานีหล๊ะ หมัดเลียด ช่วยพิมพ์รายชื่อผู้เข้าร่วมที่เหลือ