ประวัติความเป็นมา
ความเป็นมาของการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ ที่กล่าวถึงต่อไปนี้ เกิดจากการสัมภาษณ์คนทำงาน NGOs. ในยุคแรก ๆ ของภาคใต้ คือ คุณบรรจง นะแส (อดีตทำงานโครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก จ.สงขลา) และ คุณกำราบ พานทอง (อดีตทำงานในโครงการพัฒนาชุมชนสวนยางขนาดเล็ก จ.สตูล)
แนวคิดเรื่องการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2527-2528 ระยะแรกของการเริ่มยังเป็นเพียงความคาดหวังในเรื่องของการระดมทุน เรื่องการสะสมทรัพย์ร่วมกัน โดยมีอาจารย์คะเน กิตติโกวิท (อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่) เป็นผู้จุดประกาย
กลุ่มนักพัฒนาประมาณ 7 คน ที่มีความสัมพันธ์กันทั้งด้านการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกันที่แฟลต อ.7 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นห้องพักของคุณสุกรี เมฆทันต์ (ข้าราชการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่) ประมาณ ปี 2532 เจ้าของห้องที่แฟลต อ.7 ได้แต่งงานมีครอบครัว ส่วนอาจารย์คะเน กิตติโกวิท ก็ลาออกจากมหาวิทยาลัยไปทำสวนอยู่ที่สตูล งานของ NGOs. ขยายมากขึ้น เลยตัดสินใจย้ายไปตั้งสำนักงานที่อำเภอเมืองสงขลา
ในช่วงแรกนั้นได้ร่วมกันลงหุ้นซื้อสลากออมสิน โดยหวังผลกำไรจากดอกเบี้ยและการถูกรางวัล ในช่วงระยะนั้นมี คุณนิคม ภู่สกุล เป็นผู้รับผิดชอบการจัดการดูแลผลประโยชน์ เมื่อมีการถูกรางวัลแต่ละครั้งจะนำเงินไปซื้อสลากออมสินเพิ่ม ไม่มีการนำเงินออกมาใช้ประโยชน์ หวังว่าจะถูกรางวัลสัก 3-4 ล้าน จะได้ซื้อที่ดิน ซื้อบ้านไว้เป็นสำนักงาน เมื่อครบรอบปี ผู้ร่วมระดมทุนซื้อสลากออมสินได้มาสรุปผลกำไร พบว่าไม่คุ้มทุน หลังจากนั้นได้เริ่มคิดกันใหม่ว่า วิธีซื้อสลากออมสินอย่างเดียวคงไม่สามารถช่วยเหลือเพื่อนพ้องได้หากเกิดจำเป็น จึงมีการสรุปกันว่าหากคิดจะสะสมเงินกัน ควรจะเริ่มจากการสะสมทีละเล็กทีละน้อย ประกอบกับสมาชิกชุดก่อตั้งได้พบกับครูชบ ยอดแก้ว ผู้ซึ่งมีแนวคิดเรื่องสวัสดิการผู้นำ โดยเฉพาะสวัสดิการการรักษาพยาบาลและสวัสดิการการกู้ยืมเพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิต จึงนำแนวคิดนั้นมาจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น และมีการดำเนินงานอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักในการดำเนินงานคือ มุ่งไปสู่การพึ่งพากันในกลุ่มคนทำงานพัฒนา ทั้งในส่วนของสวัสดิการทางสังคมและความมั่นคงในการใช้ชีวิต
แนวคิดการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ ที่มองว่า “ทำอย่างไรให้นักพัฒนาสามารถพึ่งตนเองในระยะยาวได้” ได้ทำกิจกรรมใน 2 ลักษณะ คือ
- ซื้อสลากออมสิน ทุน 20,000 บาท เมื่อถูกรางวัลก็เอาไปซื้อเพิ่มอีก โดยมีเป้าหมายคือ สะสมเงิน ไม่ได้มีการนำเงินมาใช้ประโยชน์ใด ๆ (ปัจจุบันนี้สลากออมสินดังกล่าวยังอยู่ที่คุณนิคม ภู่สกุล)
- พยายามขยับให้มีการร่วมทุน ในขณะนั้นมีโครงการที่ทำงานอยู่เพียง 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก กับ โครงการพัฒนาชุมชนสวนยางขนาดเล็ก
ขณะเดียวกันคนทำงาน NGOs. ภายในโครงการการพัฒนาชุมชนสวนยางขนาดเล็กได้ร่วมกับเพื่อนพ้อง ทดลองซื้อสลากออมสินแบบเป็นชุดใหญ่ 300,000 บาท จำนวน 10,000 ใบ ในการจัดซื้อทำโดยการยืมเงินจากโครงการพัฒนาชุมชนสวนยางเอาไปซื้อก่อน แล้วนำสลากไปค้ำประกันเพื่อกู้เงินจากธนาคารออมสินเพื่อชำระคืนให้กับโครงการ ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย ในจำนวนหนึ่งหมื่นใบมีการถูกรางวัลทุกเดือน ในช่วงสิ้นปีมีการสรุปผลออกมาได้ว่า ลงทุนคนละ 6,000 บาท ได้ผลกำไรกลับคืนมาคนละ 4,000 บาท ต้องประสบกับการขาดทุน เพราะมีรายจ่ายดอกเบี้ยธนาคารจากการกู้เงิน
ระยะแรกเหมือนกับเป็นการทดลองแนวคิด มีการทดลองไปในหลาย ๆ รูปแบบ มีกองทุนต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยเป้าหมายหลักเพื่อวัตถุประสงค์ในการพึ่งพากันเองและการช่วยเหลือกันในยามจำเป็น คือ
- มีการระดมเงินกันเพื่อซื้อที่ดินในการทำสวนเกษตร และสร้างอาคารสำนักงานโครงการพัฒนาชุมชนสวนยางขนาดเล็ก ปัจจุบันราคาที่ดินสูงขึ้น (เกินเท่าตัว) และกองทุนเพื่อนพี่น้องเป็นกองทุนที่ใช้ในการดูแลที่ดิน ปัจจุบันเตรียมจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเกษตรกรรมทางเลือก
- กองทุนพึ่งตนเอง จัดไว้เป็นกองทุนสาธารณะให้กู้ยืมสำหรับนักพัฒนาที่เดือดร้อน โดยไม่คิดดอกเบี้ย เงินที่นำมารวมกันส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคที่นักพัฒนากลุ่มหนึ่งได้รับจากการรับงานพิเศษ กองทุนนี้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน (ประมาณ 10 ปี) มีเงินอยู่จำนวน 57,000 บาท ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการกู้เงินแล้ว 4 คน แต่ยังไม่มีการส่งคืน ยังจำกันได้อยู่ หากผู้ที่กู้ไปได้นำเงินมาส่งคืน ก็ยังจะมีการจัดให้หมุนเวียนเงินให้กับนักพัฒนาที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินได้กู้ยืมต่อไป
การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ ก่อนที่จะตั้งกลุ่มจนถึงปีแรกมีคุณนิคม ภู่สกุลเป็นผู้รับผิดชอบดูแลทั้งหมด เพราะคุณนิคมเคยทำงานสหกรณ์มาก่อน จึงมีความชำนาญกว่าคนอื่น มีการรับสมาชิกโดยการระดมเงินฝากสัจจะหุ้นละ 100 บาท ในปีแรกกลุ่มยังไม่มีการปล่อยให้กู้ มาเริ่มปล่อยให้กู้ในช่วงการดำเนินงานปีที่สอง ในช่วงนั้นจึงได้มีการยกร่างระเบียบขึ้นมา มีการตั้งคณะกรรมการกลุ่มในการบริหารจัดการ มีสมาชิกให้ความสนใจมาก สมาชิกของกลุ่มจะอยู่กระจายในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ แต่ละจังหวัดจะมีกลุ่มตัวแทนในการเก็บเงินส่งมายังกลุ่ม ส่วนใหญ่จะส่งเงินเป็นธนาณัติ มีการโอนผ่านธนาคารบ้าง
ในช่วงแรก ๆ ของกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ มีสมาชิก NOGs. ทุกองค์กรในภาคใต้ การรับสมัครสมาชิกจะเป็นไปในรูปแบบที่สนุกสนาน กลุ่มจะมีการประชาสัมพันธ์ในเวทีการประชุมของ NGOs. ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญกับกลุ่มมาก อาจจะเป็นเพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ทุกคนอยากจะพิสูจน์ ในระยะนั้นทางกลุ่มไม่ได้เน้นในเรื่องกฎระเบียบมาก ใครมีความพร้อมจะส่งเงินอย่างไร ก็หาวิธีการส่งเข้ามา ในช่วงระยะหลัง ๆ ที่สมาชิกหลุดออกไปมาก (พ้นจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม) เหตุผลหนึ่งมาจากกฎระเบียบที่ตึงเกินไป ไม่มีการยืดหยุ่น ทีมก่อตั้งกลุ่มหลายคนก็หลุดออกจากการเป็นสมาชิกไปเพราะทำผิดระเบียบ ขาดส่งสัจจะ เหตุผลหนึ่งเพราะหมดความเชื่อมั่นในระบบการจัดการ
ระเบียบกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ในช่วงแรกที่ระเบียบไม่ซับซ้อน ช่วงแรกมีการกู้ไปซื้อที่ดินบ้าง อย่างกรณีคุณสามารถ สะกวี กู้ไปทำงานกับกลุ่มชาวบ้าน ช่วงนั้นก็คิดเรื่องเงินเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งตรงนี้ก็คิดไม่ต่างจากกลุ่มชาวบ้าน มีการจัดสรรเงินที่เข้ามาเป็นกองทุนต่าง ๆ ตอนหลังมาคิดการใหญ่ คือมีการเปลี่ยนประธานมาหลายคน แล้วแต่ว่านโยบายของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร มีการไปกู้เงินของสหกรณ์เครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทย เอามาหมุนเพื่อให้มีเงินเพียงพอกับความต้องการของสมาชิก เกิดปัญหาว่าเราต้องจ่ายดอกเบี้ยที่แพง มีการเร่งให้กู้เพราะต้องการดอกเบี้ย ไม่ต่างจากชาวบ้าน ความอยากร่ำอยากรวย หลายคนกู้ไปทำธุรกิจ ล้มไปก็มาก แล้วมามีปัญหาเรื่องการคืนกลับ
มีการตั้งกองทุนที่สนับสนุนเรื่องงานพัฒนา เริ่มมีตั้งแต่แรกแล้วเพราะคิดแบบชาวบ้าน สมมุติร้อยละ 3 กองหนึ่งเป็นกองทุนพัฒนา กองหนึ่งปันผลคืนสมาชิก กองหนึ่งเป็นสวัสดิการ ตอนหลังเราก็เอาแนวคิดนี้ไปทำงานกับชาวบ้านต่อ
ปัญหาที่พบในปัจจุบัน สมาชิกกู้ไปแล้วมีปัญหาเรื่องการคืน ไม่ใช่ไม่คืน แต่ที่ยังไม่คืนเพราะคิดกันเกินตัวเหมือนชาวบ้าน คิดเกินตัวและกุมสภาพตัวเองไม่ได้ เช่น มีรายได้ 7,000 บาท ต้องผ่อนเดือนละ 1,000 บาท แต่อยากจะทำให้รายได้เพิ่มก็ไปเปิดร้านอาหาร คิดว่าไปทำร้านอาหารแล้วรายได้จะมากขึ้น จริง ๆ ไม่ง่ายแบบนั้น พอล้มขึ้นมาก็ไม่มีเงินก้อน ไม่มีทุนมาต่อ อันนี้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคิดกู้มากโดยสร้างฐานสมาชิกเข้ามา เอาพ่อแม่เข้ามาเป็นสมาชิก แล้วเอาชื่อ 4-5 คนมากู้ทีเดียว เอาหนี้ไปเป็นก้อนเหมือนลูกโซ่ (คนกู้ไม่ได้รู้เรื่องราว) เอาชื่อพ่อแม่พี่น้องมากู้แล้วต้องผ่อนหลายมือ กลายเป็นภาระหนักคนเดียว ทำให้ผ่อนคืนลำบาก อย่าให้ออมทรัพย์ไปแก้ปัญหาทุกเรื่อง
ความคาดหวังเรื่องการขยายแนวคิดการทำงาน NGOs. อย่างกรณีบางคนดึงชาวบ้านจากชุมชนมาเป็นสมาชิก ช่วงหลังเขาก็เกิดกลุ่มออมทรัพย์ของตัวเองซึ่งสอดคล้อง เหมือนอย่างครูสุภี สังขภิญโญ เป็นสมาชิกกลุ่มด้วย ดึงเขามาเรียนรู้จนเกิดกลุ่มของเขาเอง
ระยะหลัง ๆ มีการเอาระเบียบมาเป็นธงนำหลักในการชี้ทิศทางกลุ่ม โดยที่กฎระเบียบไม่ได้เข้าใจในวัตถุประสงค์ของกลุ่มเท่าใดนัก ขาดการมองวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทิศทางในการจัดสวัสดิการให้แก่นักพัฒนาให้สามารถอยู่ร่วมกัน กลุ่มออมทรัพย์จะต้องเป็นตัวดึงให้นักพัฒนากลับมาร่วมมือกันมาเป็นพี่น้องกัน (เป็นตัวจะร้อยรัด)
ที่ผ่านมากลุ่มออมทรัพย์ของเรามีการปรับกฎระเบียบใหม่ทุกปี ซึ่งนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในบางกรณีการปรับกฎระเบียบบางตัวมันอาจสะท้อนถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้น เช่น การลดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลลง ซึ่งในความเป็นจริงตามเป้าหมายทิศทางของกลุ่มควรให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาลเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อหลายปีก่อนเคยมีแนวคิดที่จะตัดกองทุนรักษาพยาบาลออก เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเปลี่ยนอุดมการณ์ของกลุ่ม
แนวคิดเรื่องการลดเงินกองทุนสวัสดิการนั้นมาจากเหตุผลที่คณะกรรมการมีแนวความคิดว่า นักพัฒนามีเงินเดือนอยู่แล้ว เป็นการมองแบบหยาบ ๆ ขาดการมองถึงนักพัฒนาที่ตกงาน นักพัฒนาหรือสมาชิกที่ต้องการสวัสดิการยังมีอีกมาก หากมองย้อนกลับในเรื่องการตั้งชื่อ “กลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้” ในความหมายของคำว่า “นักพัฒนา” ซึ่งรุ่นก่อตั้งไม่ได้มองนักพัฒนาแค่ผู้ที่มีอาชีพ NGO. แต่มองถึงคนที่มีหัวใจในการทำงานพัฒนาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักธุรกิจ
ในระยะเริ่มต้น เรามีเพื่อนจากสาขาอาชีพอื่นเป็นสมาชิก คนกลุ่มนั้นคิดในเรื่องการช่วยเหลือนักพัฒนาที่ไม่มีสวัสดิการทางสังคม คิดให้สมาชิกที่มีอาชีพ NGO. ได้มีเงินสวัสดิการทางสังคม คนกลุ่มนั้นไม่ได้คิดว่าจะได้ใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง เพราะเขามีแหล่งกองทุนสวัสดิการจากหน่วยงานอยู่แล้ว
หากมองในแง่การบริหารกลุ่มออมทรัพย์ตามวัตถุประสงค์เดิม การลดกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลดังกล่าว ถือเป็นการบริหารกลุ่มแบบเดินถอยหลัง ความเป็นจริงเงินสวัสดิการควรจะเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง
ที่ผ่านมากลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งที่พยายามจะคิดรูปแบบในกระบวนการให้เกิดความเป็นจริง อยากให้เกิดการพึ่งตนเองของคนทำงานพัฒนาในระยะยาว แต่การบริหารในรูปแบบกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้เองก็มีข้อจำกัด เพราะหากเราคิดแค่การออมทรัพย์คือการฝาก การกู้ ไม่มีการจัดการเงินสวัสดิการให้เพิ่มขึ้น มันจะกลายเป็นธนาคาร เป็น ธกส. ที่มีการฝาก การกู้ แสวงหาดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ
ปรัชญาของกลุ่มออมทรัพย์คือ การช่วยเหลือกัน NGO. ที่รวยต้องช่วย NGO. ที่จน เรานำเงินมาฝากเพื่อเอาส่วนต่างที่ได้ไปจัดสวัสดิการให้กับคนจน หรือ NGO. เล็ก ๆ ทั้งในรูปแฃการให้กู้หรืออื่น ๆ เหมือนกันกับกรณีที่ NGO. ทำงานกับชาวบ้าน พยายามดึงเงินจากคนรวยมาช่วยคนจน เช่นเดียวกันต้องดึงเงินจาก NGO. องค์กรใหญ่ ๆ มาช่วย NGO. องค์กรเล็ก ๆ ไม่ควรมองว่าพวกเล็ก ๆ ไม่มีเครดิต เพราะหลักการคิดอย่างนี้เป็นการคิดที่อันตราย จะไม่ต่างกับการคิดของนายทุน หรือของสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่คิดว่าพวกนี้ไม่สามารถผ่อนคืนได้ และก็จะกลายเป็นคนด้อยโอกาสในสังคมตลอดไป
ในปัจจุบันการที่สมาชิกลาออกไปเรื่อย ๆ เหตุผลส่วนใหญ่มาจากการที่กู้ไปแล้ว ไม่มีความสามารถในการส่งเงินคืนได้ คิดว่าในปัญหานี้มันเกิดการผิดพลาดที่การระบบบริหาร ต้องร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหา สร้างให้เกิดแนวทางใหม่ ๆ ให้เกิดสวัสดิการรองรับให้เพียงพอ จึงเห็นว่าต้องปรับที่ระบบการบริหาร ยกตัวอย่างกรณี ธกส. พยายามปรับตัวเองไปเป็นธนาคารชนบท ต้องการรักษาปรัชญาเดิมแต่ไปปรับที่กฎระเบียบ คล้าย ๆ ธกส. มีแนวทางการฟื้นฟูชีวิตให้กับกลุ่มที่ไม่สามารถส่งเงินได้ อาจจะให้กู้โดยไม่มีดอกเบี้ยเพื่อให้มีโอกาสสร้างรายได้ให้เกิดการผ่อนส่ง ไม่ควรให้เกิดการนำเงินไปใส่ในธนคาร
กระบวนการตรงนี้ต้องร่วมกันคิด เพราะเชื่อว่านักพัฒนาไม่มีใครอยากมีปัญหาด้านการส่งเงิน แต่ในภาวะที่ NGO. ไม่มีรายได้ที่แน่นอน ปรากฏการณ์นี้เจอกันบ่อยมาก หวังจะได้กลุ่มออมทรัพย์เป็นที่พึง ก็ต้องกลับมาพบกับระเบียบที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้เพื่อสมาชิกหลายคนเจ็บปวด และหลุดออกไปสร้างกลุ่มใหม่ของตัวเอง ที่ผ่านมาได้เกิดกลุ่มใหม่จากคนที่ประสบปัญหากับกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ขึ้นมาหลายกลุ่ม
อีกวิธีหนึ่งอาจจะสร้างให้เกิดรายได้โดยการทำธุรกิจ อาจจะเป็นในรูปของการซื้อที่ดินสร้างสำนักงานให้องค์กร NGO. เช่า แต่ละองค์กรต่างต้องเช่าบ้าน เช่าสถานที่ทำสำนักงาน อาจจะทำเป็นศูนย์ฝึกอบรม หรืออาจะหุ้นทำธุรกิจกับกลุ่มชาวบ้าน อาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่สมาชิกกลุ่มจะได้ช่วยเหลือกันจริงและเกิดการพึ่งตัวเองในระยะยาว
ที่มา ร่างผลการศึกษาบทเรียนการดำเนินงานและทิศทางงานกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ในอนาคต
คณะผู้ศึกษาและรวบรวม นายธราดอน หมัดเลียด , นายสมนึก พรรณศักดิ์ , นายสินธุ แก้วสินธุ์ , น.ส.เฉลิมศรี หนูฤทธิ์ , ผศ.ไพรัช วัชรพันธุ์
ผู้สนับสนุน กลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้
เมื่อ 17 สิงหาคม 2545