ระเบียบกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้

cloud_downloadดาวน์โหลดฉบับแก้ไขล่าสุด

ระเบียบกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้

บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓
แก้ไขล่าสุด ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๓

หมวดที่ ๑ ชื่อและวัตถุประสงค์

ข้อ ๑ กลุ่มออมทรัพย์นี้ชื่อ "กลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้"

ข้อ ๒ กลุ่มออมทรัพย์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
๒.๑ ให้มีการสะสมทรัพย์ร่วมกัน
๒.๒ นำเงินสะสมของสมาชิกมาช่วยเหลือกันในรูปการกู้
๒.๓ จัดกองทุนสวัสดิการแก่สมาชิก
๒.๔ พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยเหลือกันทางความคิด กำลังทรัพย์และการใช้แรงงาน

หมวดที่ ๒ สมาชิก

ข้อ ๓ ผู้มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มคือ
๓.๑ คนทำงานที่ทำงานสังกัดกับองค์กรพัฒนาเอกชน
๓.๒ พ่อ แม่ พี่ น้อง สามี ภรรยา ลูก ของคนทำงานในข้อ ๓.๑
๓.๓ คนทำงานเพื่อสังคม / นักกิจกรรม
๓.๔ โครงการขององค์กรพัฒนาเอกชน
๓.๕. นอกเหนือจากข้อ ๓.๑ - ๓.๔ ให้อยู่ในดุลยพินิจของกรรมการ

ข้อ ๔ การสมัครและขั้นตอนการเป็นสมาชิก
๔.๑ ผู้สมัครต้องรู้ เข้าใจ และยอมปฏิบัติตามระเบียบนี้
๔.๒ ต้องมีผู้รับรองซึ่งเป็นสมาชิกเก่า ๓ คน สมาชิกเก่าหมายถึงสมาชิกที่มีอายุการเป็นสมาชิกมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๒ เดือน
๔.๓ ผู้สมัครต้องจ่ายค่าสมัครคนละ ๓๕ บาท พร้อมกับเงินสัจจะอย่างน้อย ๑ หุ้น (๑๐๐ บาท) เงินค่าสมัครจะถือเป็นรายได้ของกลุ่มจะไม่คืนให้สมาชิก ไม่ว่ากรณีใดๆ
๔.๔ ผู้สมัครต้องยื่นใบสมัครตามแบบฟอร์มของกลุ่ม
๔.๕ กลุ่มฯ จะเปิดรับสมาชิกใหม่ ตลอดทั้งปี โดยต้องมายืนยันตัวตนในวันที่มีการประชุมกรรมการประจำเดือน หรือประชุมสามัญประจำปี รวมถึงโอกาสในการจัดกิจกรรมของกลุ่มฯ และของ กป.อพช.ใต้ รวมทั้งการรายงานตัวผ่านระบบประชุมออนไลน์
๔.๖ ผู้สมัครจะได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม ฯ เมื่อผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมของคณะกรรมการกลุ่มฯ

ข้อ ๕ สมาชิกจะพ้นสมาชิกภาพเมื่อ
๕.๑ ตาย
๕.๒ ลาออก ทั้งนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมของคณะกรรมการกลุ่ม
๕.๓ ขาดฝากเงินสัจจะในรอบปีบัญชีรวมแล้ว ๕ เดือน แต่ถ้ามีเหตุที่จะทำให้พ้นจากสมาชิกภาพ ให้อยู่ในดุลยพินิจของที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาเป็นรายๆ ไป
๕.๔ คณะกรรมการกลุ่มมีมติเอกฉันท์ให้ออก
๕.๕ ที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยเสียงอย่างน้อยสองในสามให้ออก
๕.๖ เมื่อสมาชิกตัวหลักต้องพ้นสมาชิกภาพ ตามข้อ ๕.๑ - ข้อ ๕.๕ ให้มีผลถึงสมาชิกคนอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบต้องพ้นสมาชิกภาพด้วย ยกเว้นได้มีการดำเนินการหาผู้รับผิดชอบหลักขึ้นมาแทน

หมวดที่ ๓ เงินฝากสัจจะและเงินทุนหมุนเวียน

ข้อ ๖ สมาชิกทุกคนต้องฝากเงินสัจจะอย่างน้อยเดือนละหนึ่งหุ้น (๑ หุ้นมีมูลค่าหุ้นละ ๑๐๐ บาท) แต่ต้องไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นทั้งหมดของกลุ่ม

ข้อ ๗ เงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มฯ จะได้จาก ค่าสมัครสมาชิก เงินฝากสัจจะ เงินค่าบำรุง เงินค่าปรับ เงินบริจาคเงินฝากสะสมพิเศษ เงินรายได้อื่นๆ และเงินกู้ยืมจากภายนอกซึ่งที่ประชุมใหญ่รับรอง

ข้อ ๘ กลุ่มสามารถรับฝากเงิน จากสมาชิก จากบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกก็ได้ โดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทนเงินฝากก็ได้ ตามที่คณะกรรมการจะประกาศกำหนดเพื่อใช้เป็นโครงการพิเศษเป็นคราวๆ ไป เท่าที่จำเป็นในการใช้เงิน

ข้อ ๙ สมาชิกทุกคนต้องฝาก - ผ่อนชำระเงินทุกประเภทภายในวันที่ ๔-๕ ของทุกเดือน ที่เจ้าหน้าที่หรือเหรัญญิกกลุ่ม (หากวันทำการตรงกับวันหยุดของธนาคารให้เลื่อนเป็นวันถัดไป)

ข้อ ๑๐ การฝากเงินสัจจะ สามารถฝากล่วงหน้ากี่เดือนก็ได้ แต่ไม่เกินรอบปีบัญชีนั้น โดยต้องแจ้งให้กลุ่มฯ ทราบด้วย

ข้อ ๑๑ กลุ่มฯ จะคืนเงินสัจจะให้สมาชิกเมื่อพ้นจากสมาชิกภาพ ทั้งนี้ต้องไม่มีพันธะใดๆ

ข้อ ๑๒ กรณีกลุ่มฯ ติดต่อสมาชิกไม่ได้เพื่อการคืนเงิน จะนำเงินดังกล่าวเข้ากองทุนสวัสดิการ ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการกลุ่มฯ

ข้อ ๑๓ ไม่ว่ากรณีใดๆ จะไม่มีการขายหุ้นให้คนอื่น

ข้อ ๑๔ สมาชิกสามารถถอนเงินสัจจะของตนเองได้ต้องมีอายุสมาชิก ๕ ปี ขึ้นไป ถอนได้ไม่เกิน ๕๐% ของสัจจะทั้งหมด และการถอนเงินสัจจะต้องมีเงินสัจจะคงเหลือไว้ในกลุ่มอย่างน้อยเท่ากับการฝากเงินสัจจะ ๑๐๐ บาทต่อเดือนเป็นเวลาเท่ากับอายุการเป็นสมาชิก และไม่มีพันธะหนี้สินใดๆ กับกลุ่มฯ โดยถอนได้ปีละ ๑ ครั้ง

หมวด ๔ การกู้ยืมเงิน

ข้อ ๑๕ กลุ่มให้บริการกู้ยืมเงิน ๗ ประเภท คือ
๑) กู้สามัญ
๒) กู้ร่วม
๓) กู้เพื่อการพึ่งตนเองโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
๔) กู้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน
๕) กู้ประวัติดี
๖) กู้ฉุกเฉิน
๗) กู้เพื่อพัฒนาและติดตั้งระบบโซล่าเชลล์

ข้อ ๑๖ สมาชิกที่จะกู้เงินต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้
๑๖.๑ มีอายุการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า ๖ เดือน
๑๖.๒ มียอดเงินสัจจะไม่น้อยกว่า ๖ เดือน
๑๖.๓ ไม่ขาดการฝากเงินสัจจะในรอบปีบัญชี ติดต่อกัน ๒ เดือน

ข้อ ๑๗ กู้สามัญ มีรายละเอียดดังนี้
๑๗.๑ สมาชิกกู้ได้ไม่เกินเงินสัจจะสะสมของตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน
๑๗.๒ สมาชิกสามารถกู้ให้สมาชิกคนอื่นได้ โดยผู้กู้ให้และผู้ที่จะรับเงินกู้จริงต้องมาพูดคุยรายละเอียดต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลุ่ม
๑๗.๓ สมาชิกที่เป็นผู้เยาว์อายุไม่ครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ จะต้องมีผู้ปกครองลงชื่อรับรองการกู้
๑๗.๔ สมาชิกที่อยู่ในพันธะไม่สามารถกู้สามัญหรือกู้ร่วมได้อีก จนหมดพันธะในการกู้นั้นๆ
๑๗.๕ สมาชิกต้องชำระค่าบำรุงเงินกู้ในอัตราร้อยละ ๙ ต่อปี หรือร้อยละ ๗๕ สตางค์ ต่อเดือน
๑๗.๖ การชำระคืนเงินต้น ต้องชำระคืนภายใน ๖๐ เดือน

ข้อ ๑๘ กู้ร่วม มีรายละเอียดดังนี้
๑๘.๑ สมาชิกกู้ได้ไม่เกินเงินสัจจะสะสมของตนเองรวมกับผู้กู้ร่วมทุกคน
๑๘.๒ สมาชิกที่อยู่ในพันธะกู้ร่วม ไม่สามารถกู้สามัญหรือกู้ร่วมได้อีก จนหมดพันธะในการกู้นั้นๆ
๑๘.๓ สมาชิกที่อยู่ในพันธะกู้ร่วม  ประสงค์ที่จะถอนจากการเป็นผู้ร่วมกู้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ
๑๘.๔ สมาชิกต้องชำระค่าบำรุงเงินกู้ในอัตราร้อยละ ๙ ต่อปี หรือร้อยละ ๗๕ สตางค์ ต่อเดือน
๑๘.๕ การชำระคืนเงินต้น ต้องชำระคืนภายใน ๖๐ เดือน

ข้อ ๑๙ กู้เพื่อการพึ่งตนเองโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน มีรายละเอียดดังนี้
๑๙.๑ สมาชิกกู้เพื่อการก่อสร้าง ซื้ออาคาร ต่อเติมอาคาร ซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรหรือเพื่ออยู่อาศัยของสมาชิกหรือเป็นที่ทำการขององค์กร หรือเพื่อบริหารจัดการองค์กรให้ผ่านพ้นช่วงรอยต่อระยะสั้นในการของบประมาณมาดำเนินงาน
๑๙.๒ สมาชิกต้องมีอายุการเป็นสมาชิก ๑ ปีขึ้นไป
๑๙.๓ สมาชิกขอกู้ได้ไม่เกินร้อยละ ๘๐ ของมูลค่าของหลักทรัพย์ตามที่คณะกรรมการประเมินราคา
๑๙.๔ สมาชิกต้องไม่ขาดส่งสัจจะในรอบ ๑ ปีบัญชี และมีประวัติการชำระคืนที่ดีในกรณีที่ยังมีพันธะหนี้สินอย่างอื่นกับทางกลุ่มฯ
๑๙.๕ ผู้กู้ต้องทำสัญญาจำนองหลักทรัพย์ระหว่างสมาชิกกับตัวแทนคณะกรรมการกลุ่มฯ ผู้ซึ่งมีหนังสือมอบหมายจากคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ให้ดำเนินการแทน
๑๙.๖ หากสมาชิกอยู่ในสถานภาพที่ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ต้องมีบุคคลรับผิดชอบหนี้สินแทน
๑๙.๗ สมาชิกต้องชำระค่าบำรุงเงินกู้ในอัตราร้อยละ ๖ ต่อปี หรือ ร้อยละ ๕๐ สตางค์ต่อเดือน
๑๙.๘ สมาชิกในฐานะคู่สัญญาเงินกู้ต้องทำประกันชีวิต “ให้ครอบคลุมคุ้มครองภาระหนี้สินตามวงเงินกู้โดยเฉพาะ” เท่านั้น ไม่ใช่การทำประกันชีวิตทั่วไป หรือการทำประกันในรูปแบบอื่น โดยสมาชิกต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำประกันดังกล่าวเอง
๑๙.๙ หลักทรัพย์ที่จะนำมาค้ำประกันเงินกู้ต้องอยู่ในพื้นที่ภาคใต้และเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรมของสมาชิกซึ่งไม่มีภาระจำนอง หรือหลักทรัพย์ที่สมาชิกจะซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ของสมาชิกเอง
๑๙.๑๐ การประเมินหลักทรัพย์ ให้สมาชิกนำใบประเมินราคาที่ออกโดยสำนักงานที่ดิน ทางกลุ่มฯจะประเมินราคาหลักทรัพย์โดยมีการเปรียบเทียบจากราคาตลาดและราคากลางของสำนักงานที่ดิน
๑๙.๑๑ สมาชิกต้องรับผิดชอบค่าเดินทาง ค่าอาหาร และเบี้ยเลี้ยงของตัวแทนคณะกรรมการที่ไปประเมินหลักทรัพย์ และจำนองที่ดิน รวมถึงค่าธรรมเนียมทุกอย่างในการทำสัญญา เพื่อจำนองและการไถ่ถอนหลักทรัพย์ ในกรณีที่กรรมการต้องเดินทางจากสำนักงานเป็นระยะทางเกิน ๒๕๐ กิโลเมตร หรือระยะทางใกล้กว่านี้แต่มีความจำเป็นต้องพักเนื่องจากยังดำเนินการไม่เสร็จ ให้มีการเพิ่มค่าที่พักโดยให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ
๑๙.๑๒ หากสมาชิกเป็นฝ่ายยกเลิกการกู้เอง หลังจากคณะกรรมการเดินทางไปประเมินหลักทรัพย์แล้ว ผู้กู้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเสียเวลาการทำงานของคณะกรรมการเข้าเป็นรายได้ของกลุ่มฯ เป็นจำนวน ๐.๒๕ % ของจำนวนเงินที่สมาชิกขอกู้
๑๙.๑๓ วงเงินกู้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการตามสถานะทางการเงินในขณะนั้น ส่วนการชำระคืนมีรายละเอียดดังนี้
๑) วงเงินกู้ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ชำระคืนภายใน ๙๖ เดือน
๒) วงเงินกู้ตั้งแต่ ๕๐๐,๐๐๑ บาทขึ้นไป ชำระคืนภายใน ๑๒๐ เดือน

ข้อ ๒๐ กู้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน มีรายละเอียดดังนี้
๒๐.๑ สมาชิกกู้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานด้วยการซื้อสินค้า หรือบริการสำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมไม่ฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า กล้องถ่ายรูป กล้องวีดีโอ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ จักรยานยนต์ เป็นต้น โดยใช้เงินทุน จากเงินฝากพิเศษ
๒๐.๒ ให้กู้ได้ในวงเงินร้อยละ ๘๐ ของราคาสินค้า โดยอีกร้อยละ ๒๐ เป็นการสมทบจากสมาชิก เพื่อให้มีการสะสมทุนของสมาชิกก่อนการตัดสินใจซื้อ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท
๒๐.๓ ให้ผู้กู้เสนอข้อมูลสินค้าหรือบริการเพื่อประกอบการยื่นกู้ และหลังจากซื้อให้นำใบเสร็จแนบเอกสารสัญญาด้วย ในกรณีที่มียอดเงินในใบเสร็จต่ำกว่าจำนวนเงินที่ขอกู้จริง ผู้กู้จะต้องคืนจำนวนเงินส่วนต่างกลับให้กลุ่มฯ
๒๐.๔ ระยะเวลาชำระไม่เกิน ๓๖ งวด อัตราค่าบำรุงคงที่ร้อยละ ๐.๕ ต่อเดือน
๒๐.๕ ในกรณีที่มีการชำระหนี้ยอดเต็มจำนวนก่อนครบกำหนดเงินงวดตามสัญญา ให้ลดค่าบำรุงเหลือร้อยละ๕๐ ของดอกเบี้ยที่เหลือในสัญญา
๒๐.๖ การจัดสรรกำไรที่ได้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑) ให้สมาชิกที่มีเงินฝากพิเศษเป็นเวลาอย่างน้อย ๖ เดือน ก่อนครบกำหนดการปันผล ร้อยละ ๔๐
๒) ปันผลเข้ากองทุนสวัสดิการ ร้อยละ ๔๐
๓) ค่าบริหารจัดการ ร้อยละ ๒๐

ข้อ ๒๑ กู้ประวัติดี มีรายละเอียดดังนี้
๒๑.๑ เพื่อให้สมาชิกที่กู้สามัญและกู้ร่วม ซึ่งมีวินัยในการชำระเงินกู้แต่ยังผ่อนชำระไม่หมด  สามารถกู้เงินได้เท่ากับวงเงินเดิมโดยไม่ต้องยื่นกู้ใหม่ และผู้กู้จ่ายค่าบำรุงร้อยละ ๙ ต่อปี หรือร้อยละ ๗๕ สตางค์ต่อเดือน
๒๑.๒ ผู้กู้ต้องมีประวัติส่งเงินกู้ตั้งแต่เริ่มกู้จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยขาดส่ง และกู้มาแล้วอย่างน้อย ๖ เดือน

ข้อ ๒๒ กู้ฉุกเฉิน มีรายละเอียดดังนี้
๒๒.๑ เพื่อให้สมาชิกที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน สามารถกู้เงินกู้ฉุกเฉินได้ แม้ว่าจะมีพันธะการกู้อื่นๆ อยู่ก็ตาม
๒๒.๒ เงินกู้ฉุกเฉิน กู้ได้ครั้งละไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ
๒๒.๓ ผู้กู้เงินกู้ฉุกเฉินต้องชำระคืนให้หมดภายใน ๓ เดือน ถ้าไม่ชำระตามกำหนดจะถูกปรับเป็นจำนวนเงิน ๕๐ บาท/เดือน  และจะไม่สามารถกู้ฉุกเฉินเป็นระยะเวลาตามจำนวนเดือนที่ผิดชำระ

ข้อ ๒๓ กรณีการกู้ฉุกเฉิน สามารถแจ้งความประสงค์โดยที่ยังไม่ต้องยื่นใบกู้ล่วงหน้า  แต่ให้เขียนแบบฟอร์มการกู้ภายใน ๓๐ วัน หลังจากได้รับเงิน

ข้อ ๒๔ กู้เพื่อพัฒนาและติดตั้งระบบโซลาร์เชลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) มีรายละเอียดดังนี้
๒๔.๑ สมาชิกกู้เพื่อต้องการใช้พลังงานทางเลือกในระบบโซล่าเชล์สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานในพื้นที่ชุมชน เช่น ระบบไฟฟ้าในครัวเรือน ระบบแสงสว่าง ระบบน้ำเพื่อการเกษตร และอื่นๆ
๒๔.๒ ให้กู้ได้ตามวงเงินใช้จริง สูงสุดไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท
๒๔.๓ ให้ผู้กู้เสนอรายละเอียดข้อมูลวัสดุอุปกรณ์ การใช้งานระบบโซล่าเชลล์ประกอบการยื่นกู้และหลังจากซื้อให้นำใบเสร็จแนบเอกสารสัญญาด้วย ในกรณีที่มียอดเงินในใบเสร็จต่ำกว่าจำนวนเงินที่ขอกู้จริง ผู้กู้จะต้องคืนจำนวนเงินส่วนต่างกลับให้กลุ่มฯ
๒๔.๔ ให้ยกเว้นค่าบำรุง ๑ ปีแรก  หลังจากนั้นเข้าสู่ระบบการกู้ปกติ
๒๔.๕ เงื่อนไขอื่นๆให้เป็นไปตามเงินกู้สามัญ

ข้อ ๒๕ การยื่นใบกู้ ให้ยื่นก่อนการประชุมประจำเดือนของกรรมการอย่างน้อย ๑ สัปดาห์ โดยต้องเขียนตามแบบฟอร์มที่กลุ่มฯฯกำหนด และให้ทำสัญญาเงินกู้ไว้ล่วงหน้า เมื่อผ่านการพิจารณาอนุมัติจึงจะจ่ายเงินให้ผู้กู้ได้

ข้อ ๒๖ การชำระคืนเงินต้นทุกประเภทให้เป็นไปตามตารางและข้อสัญญาที่คณะกรรมการกลุ่มฯกำหนด

ข้อ ๒๗ การกู้เงินในแต่ละครั้ง  ผู้กู้ขาดส่งเงินต้นได้ไม่เกิน ๖ ครั้ง หากเกินกว่านั้น ทางกลุ่มฯ จะคิดค่าปรับ ๕๐ บาท/เดือน  และจะถือว่าเสียประวัติ เมื่อชำระคืนหมดแล้ว จะถูกพักสิทธิ์ในการกู้ครั้งต่อไปตามระยะเวลาที่ขาดส่งเงินกู้เกิน ๖ เดือน

ข้อ ๒๘ การกู้เงินในแต่ละครั้ง  ผู้กู้ขาดส่งเงินค่าบำรุงได้ไม่เกิน ๖ ครั้ง หากเกินกว่านั้น ทางกลุ่มฯ จะคิดค่าปรับ ๑๐๐ บาท/เดือน

ข้อ ๒๙ กรณีที่ผู้กู้ส่งเงินต้นน้อยกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในตารางตามสัญญา  ไม่ถือว่าขาดส่งในงวดนั้น ไม่ถือว่าเสียประวัติ และไม่ต้องจ่ายค่าปรับใด ๆ

ข้อ ๓๐ การกู้เงินทุกประเภท สมาชิกจะต้องชำระคืนเงินกู้อย่างน้อยร้อยละ ๒๐ ต่อปีของยอดเงินที่กู้ ยกเว้นการกู้เพื่อการพึ่งตนเองโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้ยึดถือตามเงื่อนไขสัญญาที่ทำไว้กับกลุ่มฯ

ข้อ ๓๑ กรณีขาดส่งเงินกู้เกินกว่าครึ่งสัญญาเงินกู้หรือกรณีสิ้นสุดสัญญาการชำระคืนเงินกู้แต่ผู้กู้ยังส่งเงินคืนไม่ครบ  ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการกลุ่มฯที่สามารถดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้

หมวดที่ ๕ กำไรและสวัสดิการ

ข้อ ๓๒ กลุ่มจะมีการจัดสรรกำไรปีละหนึ่งครั้ง

ข้อ ๓๓ นำกำไรขั้นต้นมาจัดสรร ดังนี้
๓๓.๑ ค่าตอบแทนคณะกรรมการกลุ่มฯ จำนวนร้อยละ ๙
๓๓.๒ ค่าตอบแทนฝ่ายตรวจสอบ จำนวนร้อยละ ๑
๓๓.๓ กำไรส่วนที่เหลือเป็นกำไรสุทธิ

ข้อ ๓๔ นำกำไรสุทธิมาจัดสรร ดังนี้
๓๔.๑ กองทุนสวัสดิการ ร้อยละ ๘๐
๓๔.๒ กองทุนสำรองดำเนินงานกลุ่มฯ ร้อยละ ๓
๓๔.๓ กองทุนพัฒนากลุ่มและขบวนขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ร้อยละ ๒
๓๔.๔ ปันผลคืนสมาชิก ร้อยละ ๑๕

ข้อ ๓๕ คณะกรรมการกลุ่มฯจะเป็นผู้รับผิดชอบกองทุนดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดการเสียหาย และมีสิทธิอนุมัติจ่ายเพื่อประโยชน์ตามประเภทของกองทุนที่กำหนดไว้

ข้อ ๓๖ สมาชิกทุกคนมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากกลุ่ม ดังนี้
๓๖.๑ สมาชิกที่เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกลุ่มฯ ๕,๐๐๐ บาท โดยเบิกจ่ายจากหมวดค่าใช้จ่ายการบริหารงานของกลุ่มฯ
๓๖.๒ สมาชิกที่มีอายุสมาชิก ๑ ปีขึ้นไป เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในวงเงิน    ๕๐๐ บาท/ปี
๓๖.๓ สมาชิกที่มีอายุสมาชิก ๒ ปีขึ้นไป เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในวงเงิน ๑,๐๐๐ บาท/ปี
๓๖.๔ สมาชิกที่มีอายุสมาชิก ๓ ปีขึ้นไป เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในวงเงิน ๑,๕๐๐ บาท/ปี
๓๖.๕ สมาชิกที่มีอายุสมาชิก ๔ ปีขึ้นไป เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในวงเงิน ๒.๐๐๐ บาท/ปี
๓๖.๖ สมาชิกที่มีอายุสมาชิก ๕ ปีขึ้นไป เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในวงเงิน ๒,๕๐๐ บาท/ปี
๓๖.๗ สมาชิกที่มีอายุสมาชิก ๖ ปีขึ้นไป เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในวงเงิน ๓,๐๐๐ บาท/ปี

ข้อ ๓๗ ค่ารักษาพยาบาลที่สมาชิกสามารถเบิกได้ หมายถึง ค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกิดจากการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน และหมอพื้นบ้าน รวมถึงค่าเลนส์ คอนแทคเลนส์ และอุปกรณ์ในการช่วยรักษาเฉพาะโรค

ข้อ ๓๘ กรณีการตรวจสุขภาพ จะต้องให้แพทย์สั่งเพื่อตรวจเป็นการเฉพาะโรค

ข้อ ๓๙ กรณีการรักษาด้วยตนเอง หมายถึง การซื้อยารักษาโรคเบื้องต้น การซื้อยาสมุนไพร หรือตำรับยา ให้ระบุราคายาในใบเสร็จรับเงินหรือใบแทนใบเสร็จรับเงินของกลุ่มฯ ในกรณีที่เป็นตำรับยาจะต้องเขียนหนังสือรับรองความเป็นตำรับยา

ข้อ ๔๐ กรณีการรักษาโรคโดยแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้าน จะต้องมีรายละเอียดที่ระบุโรค อาการ และคำวินิจฉัยที่ชัดเจนจากแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้าน โดยเฉพาะกรณีการรักษาด้วยวิธีการนวด จะต้องเป็นการนวดเพื่อการรักษาโรคเท่านั้น

ข้อ ๔๑ กรณีการรักษาสุขภาพในช่องปาก การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเบิกได้ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทต่อปี

ข้อ ๔๒ กรณีเบิกจ่ายค่าเลนส์แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ เบิกได้วงเงินไม่เกิน ๑,๕๐๐ บาทต่อปี ทั้งนี้ให้แนบเอกสารผลการตรวจสายตาจากนักทัศนมาตรหรือร้านตรวจสายตาประกอบการเบิกค่าเลนส์แว่นตา และให้สมาชิกเบิกได้ปีเว้นปี

ข้อ ๔๓ กรณีการดูแลสุขภาพ เบิกได้ในวงเงินไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทต่อปี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๑) ต้องเป็นการปฏิบัติจริงในโครงการที่สอดคล้องกับแนวคิด “ป้องกันดีกว่ารักษา” เช่น โครงการธรรมชาติบำบัด โครงการล้างพิษ เป็นต้น กรณีกิจกรรมที่นอกเหนือจากนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมกลุ่มฯ
๒) ผู้จัดหรือผู้มีข้อมูลการจัดโครงการต่างๆ จะต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบก่อนวันดำเนินโครงการ  แล้วให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติสนับสนุนโครงการฯ ดังกล่าวก่อน และประกาศให้สมาชิกทราบตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ ที่สะดวกและเหมาะสมในแต่ละครั้งไป
๓) สมาชิกที่สนใจจะต้องแจ้งให้ทางกลุ่มฯ รับทราบ ก่อนจะสมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ทางกลุ่มฯสามารถบริหารเงินสวัสดิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอและทั่วถึงกับสมาชิกโดยรวม
๔) สมาชิกจะต้องขอใบเสร็จรับเงินจากผู้จัดหลักสูตรนั้นๆ เพื่อมาเป็นหลักฐานในการเบิกจ่าย  หรือหากใช้ใบแทนใบเสร็จของกลุ่มฯ ทางคณะกรรมการจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

ข้อ ๔๔ การรักษาพยาบาลที่ไม่เป็นตามระเบียบของกลุ่มฯ ไม่สามารถเบิกได้ ได้แก่ ค่าตรวจสุขภาพประจำปี ค่ากรอบแว่น ค่าศัลยกรรมตกแต่งที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ การตกแต่งเพื่อความสวยงาม ค่ายาบำรุงหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงสุขภาพไม่ใช่เพื่อการรักษา  ค่าห้องพักในสถานพยาบาล  ค่าทำบัตรผู้ป่วย  ค่าเดินทาง ค่าอาหาร รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ นอกเหนือจากนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมกลุ่มฯ

ข้อ ๔๕ หลักฐานในการเบิกค่ารักษาพยาบาล มีดังนี้
๑) ใบเบิกค่ารักษาพยาบาลของกลุ่ม
๒) แบบฟอร์มใบรับเงินของกลุ่มฯ
๓) ใบเสร็จรับเงินตัวจริง ที่อายุไม่เกิน ๓ เดือน ณ วันที่ยื่นเอกสาร และในกรณีที่มีการรักษากับหมอพื้นบ้านให้ใช้ใบสำคัญรับเงินของกลุ่มหรือใบเสร็จรับเงินที่ระบุเลขที่ใบประกอบโรคศิลป์หรือเลขที่บัตรประชาชนของหมอพื้นบ้าน โดยต้องให้หมอพื้นบ้านที่ทำการรักษาเป็นผู้กรอกรายละเอียดและลงลายมือชื่อผู้รับเงิน หากไม่มีใบเสร็จรับเงินสามารถเบิกได้ไม่เกิน ๒๐๐ บาท

หมวด ๖ การบริหารและการประชุมใหญ่

ข้อ ๔๖ กลุ่มจะมีคณะกรรมการกลุ่มฯและฝ่ายตรวจสอบ ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่โดยทั้ง ๒ ชุด มีวาระการทำงาน ๒ ปี

ข้อ ๔๗ คณะกรรมการกลุ่มฯ จะต้องมีตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
๔๗.๑ ประธาน ทำหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานของกลุ่มฯให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางของที่ประชุมใหญ่
๔๗.๒ รองประธาน ทำหน้าที่แทนประธานในกรณีที่ประธานไม่อยู่หรืองานอื่นๆ ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการกลุ่มฯ มอบหมาย
๔๗.๓ เลขานุการ ทำหน้าที่บันทึกการประชุมประจำเดือน จัดระบบเอกสารของกลุ่มให้เป็นปัจจุบัน เผยแพร่ข้อมูลไปยังสมาชิกหรืองานอื่นๆ ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการกลุ่มฯ มอบหมาย
๔๗.๔ ฝ่ายบัญชี ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชี หรืองานอื่นๆ ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการกลุ่มฯ มอบหมาย
๔๗.๕ ฝ่ายสินเชื่อ ทำหน้าที่ตรวจสอบการขอกู้ หาข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกที่ยื่นกู้ ให้ความเห็นต่อคณะกรรมการกลุ่มฯ ในการพิจารณาปล่อยกู้ หรืองานอื่นๆ ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการกลุ่มฯ มอบหมาย
๔๗.๖ เหรัญญิก ทำหน้าที่พิจารณาและอนุมัติการกู้ฉุกเฉิน พิจารณาและอนุมัติการเบิกค่ารักษาพยาบาล ตรวจสอบความถูกต้องด้านหลักฐานใบสำคัญรับเงิน - ใบสำคัญจ่ายเงินประจำเดือน หรืองานอื่นๆ ตามตามที่ประชุมคณะกรรมการกลุ่มฯ มอบหมาย
๔๗.๗ นอกเหนือจากตำแหน่งข้างต้นข้อ ๔๗.๑-๔๗.๖ สามารถเพิ่มเติมตำแหน่งได้ตามความเหมาะสมตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการกลุ่มฯเห็นสมควร

ข้อ ๔๘ กำหนดให้กรรมการมีการประชุมทุกเดือนรวมทั้งการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้กรรมการกลุ่มฯ ที่ขาดประชุม ๓ ครั้งติดต่อกัน หรือขาดการประชุม ๕ ครั้งในรอบปีทำงาน ให้พ้นจากตำแหน่ง และกรรมการกลุ่มฯ ที่พ้นจากตำแหน่งจะไม่ได้รับค่าตอบแทนสำหรับปีนั้นๆ

ข้อ ๔๙ ฝ่ายตรวจสอบ มีจำนวนอย่างน้อย ๓ คน ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีการเงิน และตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการกลุ่มฯ ให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางในที่ประชุมใหญ่กำหนด โดยต้องนำเสนอผลดังกล่าวให้สมาชิกได้ทราบในวันประชุมใหญ่ ทั้งนี้ฝ่ายตรวจสอบที่ได้รับเลือกต้องเป็นกรรมการกลุ่มฯ มาก่อนหรือเป็นสมาชิกที่มีประสบการณ์ด้านการจัดตั้งกลุ่มหรือกองทุนชุมชน

ข้อ ๕๐ กรณีที่คณะกรรมการกลุ่มฯ เห็นว่าการดำเนินงานของกลุ่มประสบปัญหาการรับ - จ่ายเงินล่าช้า คณะกรรมการกลุ่มฯ มีสิทธิ์แต่งตั้งผู้แทนประจำจังหวัดทำหน้าที่แทนคณะกรรมการกลุ่มฯ โดยการประสานงานและมอบหมายงานจากคณะกรรมการกลุ่มฯ ให้ทำหน้าที่รวบรวมเงินส่งเข้ากลุ่มตามกำหนด ลงรายการฝากสัจจะและการชำระคืนเงินกู้ในสมุดประจำตัวสมาชิกเป็นสื่อกลางระหว่างกลุ่มออมทรัพย์กับสมาชิก

ข้อ ๕๑ ปีบัญชีเริ่มตั้งแต่ ๑ มกราคม - ๓๑ ธันวาคม

ข้อ ๕๒ คณะกรรมการกลุ่มและฝ่ายตรวจสอบ ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ปีละครั้ง หลังจากปิดบัญชีไม่เกิน ๓ เดือน หรือไม่เกินเดือนมีนาคม

ข้อ ๕๓ การลงมติในที่ประชุมใหญ่ สมาชิก ๑ คน ลงมติได้ ๑ เสียง มติของที่ประชุมต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม

ข้อ ๕๔ กลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ ได้ถูกกำหนดให้เป็นกลไกการทำงานด้านสวัสดิการที่ต้องดูแลคนทำงานพัฒนาซึ่งมีความสัมพันธ์หรือเป็นสมาชิกของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)

ข้อ ๕๕ กำหนดให้ประธานกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ เป็นกรรมการของ กป.อพช.ใต้ โดยตำแหน่ง ทั้งนี้ ประธานสามารถมอบหมายกรรมการกลุ่ม ฯ เป็นตัวแทนเพื่อเข้าร่วมประชุมกับ กป.อพช.ใต้ ได้ตามความเหมาะสม

หมวดที่ ๗ บทเฉพาะกาล

ข้อ ๕๖ การโอนเงินเข้าบัญชีเงินของกลุ่มฯ โดยไม่ได้แจ้งให้กลุ่มทราบเป็นภาระสืบค้นต่อกลุ่ม  จะต้องถูกดำเนินการปรับเป็นเงิน ๑๐๐ บาท ทันที ที่มีผู้อ้างสิทธิเป็นเจ้าของเงินดังกล่าวพร้อมหลักฐานที่ชัดเจน หากไม่สามารถสืบค้นได้ภายใน ๑ ปีนับจากวันที่รับเงิน ให้นำยอดดังกล่าวเข้าสมทบกองทุนพัฒนากลุ่มและขบวนขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ พร้อมทั้งแจ้งยอดให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีรับทราบต่อไป

ข้อ ๕๗ กองทุนสำรองดำเนินงาน หมายถึง กองทุนที่ใช้สำหรับแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกิดความเสียหายทางการเงินจากการดำเนินงานในรอบปี ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อเงินสัจจะ เงินฝากพิเศษ และเงินกองทุนอื่นๆ

ข้อ ๕๘ กองทุนพัฒนากลุ่มและขบวนขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ หมายถึง กองทุนที่ใช้สำหรับการพัฒนากลุ่มและขบวนขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงการรณรงค์ต่างๆ ดังนี้
๑) โครงการหรือกิจกรรมที่เสริมสร้างพัฒนาขบวนขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ สามารถอนุมัติผ่านกลุ่มออมทรัพย์ฯ ได้
๒) โครงการหรือกิจกรรมที่ไม่ใช่สมาชิก กป.อพช.ใต้ จะต้องผ่านการเห็นชอบของ กป.อพช.ใต้ และส่งต่อให้กรรมการกลุ่มออมทรัพย์พิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุน
๓) วงเงินการอนุมัติต่อโครงการ อนุมัติได้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาทต่อโครงการ ส่วนโครงการที่มีความสำคัญที่ต้องใช้เงินมากกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท จะต้องมีการร่วมหารือและตัดสินใจร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ กลุ่มฯ กับ กป.อพช.ใต้ โดยต้องมีเอกสารโครงการพร้อมรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณแนบมาด้วย และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการทางผู้เสนอโครงการจะต้องส่งสรุปรายงานและเอกสารการเงินให้กับกลุ่มฯ ภายใน ๓๐ วัน    ถ้าองค์กรไหนไม่ส่งรายรายงานสรุปการจัดกิจกรรม ภาพถ่ายและเอกสารการเงินตามเวลาที่กำหนดจะตัดสิทธิ์การของบประมาณสนับสนุนครั้งต่อไป

ข้อ ๕๙ ระเบียบของกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ ฉบับนี้ได้รับการแก้ไขเมื่อ แก้ไขล่าสุด ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี ๒๕๖๒ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๓

ข้อ ๖๐ การใดที่ไม่ได้ระบุไว้เกี่ยวกับการเงินและการแก้ไขระเบียบนี้ ให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา

ระเบียบเพิ่มเติม

กรณีเงินกู้เพื่อการพึ่งตนเองโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

๑) อัตราการจ่ายค่าน้ำมันรถคำนวณ ๔ บาทต่อกิโลเมตร ค่าที่พักไม่เกิน ๑,๕๐๐ บาทโดยผู้กู้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

๒) เป้าหมายระยะสั้น ได้แก่ การกู้เพื่อการก่อสร้าง ซื้ออาคาร ต่อเติมอาคาร ซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรหรือเพื่ออยู่อาศัยของสมาชิกหรือเป็นที่ทำการขององค์กร หรือเพื่อบริหารจัดการองค์กรให้ผ่านพ้นช่วงรอยต่อระยะสั้นในการของบประมาณมาดำเนินงาน

๓) เป้าหมายระยะยาว ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน หรือพัฒนาการเกษตร อันนำไปสู่การทำธุรกิจเพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนในระยะยาวของสมาชิกหรือองค์กรโดยมิใช่การซื้อ-ขายที่ดินเพื่อเก็งกำไร ทั้งนี้ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยภายหลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ กลุ่มฯจะเริ่มดำเนินการตามวัตถุประสงค์ใน ข้อ ๑. คือระยะเริ่มต้นเท่านั้น ต่อเมื่อสถานะทางการเงินเหมาะสม คณะกรรมการมีมติร่วมกันและประกาศแจ้งให้สมาชิกทราบอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ข้อ ๒. ต่อไป

ไฟล์ประกอบเอกสาร
  1. ระเบียบกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๑ - ดาวน์โหลด
  2. ระเบียบกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ แก้ไข ๒๓ กพ. ๒๕๕๒ - ดาวน์โหลด
  3. โครงการสินเชื่อเพื่อการพึ่งตนเองโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ๘ มีนาคม ๒๕๕๘ - ดาวน์โหลด
  4. ระเบียบการกู้โดยเพิ่มสัจจะเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ดาวน์โหลด
  5. ประกาศการปรับเปลี่ยนระเบียบการเบิกค่ารักษาพยาบาล จากระเบียบเดิม ข้อ ๔๒ - กำหนดวงเงินค่าเลนส์สายตา และ วงเงินสุขภาพในช่องปาก - ดาวน์โหลด
  6. ประกาศเพิ่มเติม กลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ ปี ๒๕๕๖ เรื่อง การเบิกค่ารักษาพยาบาล มาตรา ๔๓,๔๔ - แพทย์แผนไทยและการป้องกันดีกว่ารักษา - ดาวน์โหลด
  7. ประกาศเรื่อง โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน - ดาวน์โหลด
  8. ประกาศเพิ่มเติม เรื่อง ถอนสัจจะได้ไม่เกิน ๕๐% ของวงเงินตนเอง ๒ มีนาคม ๒๕๕๗ - ดาวน์โหลด
  9. ระเบียบกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๓ - ดาวน์โหลด